About

เกี่ยวกับ
ศูนย์วิทยบริการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

จุดเริ่มต้นและความเป็นมา

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เดิมชื่อหอสมุดวิทยาลัยครูบุรีรัมย์ ตั้งขึ้นพร้อมกับวิทยาลัยครูบุรีรัมย์เมื่อ

พุทธศักราช ๒๕๑๔   โดยหอสมุด  ครั้งแรกตั้งอยู่ที่ชั้น ๑ อาคารสำนักงานอธิการบดี  (อาคาร ๑)  มีฐานะเป็นฝ่ายหอสมุด

พุทธศักราช  ๒๕๑๘  ได้ย้ายมาอยู่ที่อาคารหอสมุดที่สร้างขึ้นใหม่ เป็นอาคารเอกเทศ ๒ ชั้น  เป็นอาคารเฉพาะหอสมุด  ซึ่งในปัจจุบันใช้เป็นอาคารศูนย์คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต

พุทธศักราช ๒๕๓๕    วิทยาลัยครูทุกแห่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า“สถาบันราชภัฏ” หอสมุดจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “หอสมุดสถาบันราชภัฏบุรีรัมย์”

พุทธศักราช ๒๕๓๘  หอสมุดสถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ได้ปรับฐานะการบริหารเป็น “สำนักวิทยบริการ”

พุทธศักราช ๒๕๔๐-๒๕๔๑  ได้รับงบประมาณแผ่นดิน จำนวน ๓๕,๕๒๐,๐๐๐ บาท สร้างอาคารสำนักวิทยบริการหลังใหม่ ลักษณะเป็นอาคาร ๖ ชั้น พื้นที่ใช้สอย ๖,๖๒๙ ตารางเมตร โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๐  ดำเนินการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในเดือนตุลาคม ๒๕๔๒ และเมื่อวันที่ ๑๖  ธันวาคม  ๑๕๔๕  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประทานนามอาคารหอสมุดสถาบันราชภัฏทั้ง ๓๕ แห่งว่า “อาคารบรรณราชนครินทร์” จึงเป็นชื่อของอาคารหลังนี้มาจนกระทั่งปัจจุบัน

พุทธศักราช ๒๕๔๐ ปีเดียวกันกับการสร้าง อาคารบรรณราชนครินทร์ ศูนย์คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ได้เริ่มวางระบบ และเปิดให้บริการทางด้านระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต    โดยในระยะแรกเปิดให้บริการเฉพาะคอมพิวเตอร์ก่อน จากนั้นจึงมีการเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต   ซึ่งเชื่อมต่อกับเครือข่ายของ NECTEC ใช้ความเร็วในการเชื่อมต่อ ๑๒๘ Kbps. ผ่านการสื่อสารแห่งประเทศไทย

พุทธศักราช ๒๕๔๒-๒๕๔๗ สำนักวิทยบริการเริ่มเปิดให้บริการเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ โดยเปิดให้บริการข้อมูล  ข่าวสาร  สารสนเทศ  สนับสนุนการเรียนการสอนได้พัฒนาระบบงานบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  โดยการนำโปรแกรมระบบห้องสมุดอัตโนมัติ VTLS (Virginia Teach  Library  System)  เป็นซอฟต์แวร์ระบบห้องสมุดอัตโนมัติสำเร็จรูป พัฒนาเพื่อการใช้งานกับระบบห้องสมุด  Virginia  Polytechnic  Institute  and  State  University หรือ Virginia Teach  Library  System  มีการบูรณาการโมดูลพื้นฐานสำหรับห้องสมุด VTLS  เป็นโปรแกรมสำเร็จรูปชุดองค์ประกอบ (Modules)  ที่ใช้งานบนระบบปฏิบัติการ Windows ศูนย์วิทยบริการ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ ใช้โปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ  VTLS  Module  ดังนี้ดังนี้

๑. งานค้นคืนสารสนเทศ  OPAC Module (Online Publie Access Catalog)

๒. งานค้นคืนสารสนเทศผ่านระบบอินเทอร์เน็ต  (Web Gateway Module)

๓. งานวิเคราะห์หมวดหมู่และทำรายการสารสนเทศ (Cataloging Module)

๔. งานยืมคืนสารสนเทศ (Circulation Module)

พุทธศักราช ๒๕๔๒-๒๕๔๗ ศูนย์คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบสายสัญญาณใหม่ จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย เป็นของบริษัท UIH ซึ่งเป็นการส่งข้อมูลผ่าน Modem ระบบ digital ในความเร็ว ๑๒๘ Kbps. โดยเชื่อมต่อกับ UniNet ด้วยความเร็ว ๒ Mbps. เครือข่ายอินเทอร์เน็ตในสถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ (ในขณะนั้น) มีการวางระบบสายสัญญาณไว้หลายระบบ เช่น การเชื่อมต่อระหว่างอาคาร ใช้สายนำสัญญาณชนิด Fiber Optic แบบ Multimode โดยมี Node ในการกระจายออกเป็นจำนวน ๙ Node แบ่งเป็นความเร็ว ๑๐  Mbps. จำนวน  ๗ Node และ ๑๐๐ Mbps. จำนวน  ๒ Node เพื่อรองรับความต้องการในการสื่อสารผ่านระบบเครือข่ายภายในอย่างรวดเร็ว

วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๗ สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ และ สถาบันราชภัฏทั่วประเทศ ได้รับการจัดตั้งเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏ” ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จากการเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ทำให้โครงสร้างของหน่วยงานต่าง ๆ มีการปรับเปลี่ยนใหม่ โดยกำหนดให้มี “สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ” ประกอบด้วยหน่วยงาน ๑ หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานผู้อำนวยการ แต่มีภาระหน้าที่ที่ต้องดูแล ๒ ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์วิทยบริการ ศูนย์คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต  และศูนย์งานเทคโนโลยีการศึกษา

พุทธศักราช ๒๕๔๘-๒๕๕๑ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งประกอบด้วยศูนย์  ๓  ศูนย์  ได้แก่  ศูนย์วิทยบริการ  ศูนย์คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต  และศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา มีการดำเนินการพัฒนาตามแนวนโยบายของมหาวิทยาลัย ดังนี้  ศูนย์วิทยบริการดำเนินการโครงการเอกสารฉบับเต็มในรูปอิเล็กทรอนิกส์ (TDC) และได้ Migration ระบบห้องสมุดอัตโนมัติจาก VTLS Classic เป็น Vittua  ศูนย์คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้ดำเนินการระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร (Management  Information System MIS) จำนวน ๑๔ ระบบ  จัดเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน ๑๐๐ เครื่อง ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และขยายเครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายภายในมหาวิทยาลัย  สำหรับศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาได้จัดทำเคเบิลทีวีบริการนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย จำนวน ๒ จุด และจัดทำ DVD บริการทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เช่น DVD ตำนานแสงสีเสียงเมืองบุรีรัมย์  นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการก่อสร้างอาคาร “นวัตปัญญา” ซึ่งได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี  เป็นอาคารเอกเทศ  ๕ ชั้น สำหรับศูนย์ภาษาและศูนย์คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตที่สมบูรณ์แบบต่อไปในอนาคต

พุทธศักราช ๒๕๕๒ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ได้ปรับโครงสร้างของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ใหม่ตามประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์  เรื่องการแบ่งส่วนรายการและให้มีส่วนงานภายในหรือหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ พ.ศ. ๒๕๕๒ ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๒ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศประกอบด้วยหน่วยงาน ๔ หน่วยงานดังนี้  สำนักงานผู้อำนวยการ ประกอบด้วยงานธุรการและศูนย์เทคโนโลยีการศึกษา  ศูนย์วิทยบริการ ศูนย์คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตและสถาบันภาษา บริหารงานโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์มิตรธิศาล  อื้อเพชรพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ

พุทธศักราช ๒๕๕๔ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนวงจรสื่อสาร  จากสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เชื่อมต่อกับสำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (UniNet) ของสำนักงานคณะกรรมการ การอุดมศึกษาโดยใช้วงจรการสื่อสารของ CAT Telecom  เชื่อมต่อกับ UniNet ด้วยช่องสัญญาณ  1  Gigabit

พุทธศักราช ๒๕๕๕ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนวงจรสื่อสารเชื่อมต่อโดยตรงกับ  UniNet ด้วยช่องสัญญาณ ๑ Gigabit และได้รับมอบหมายจาก UniNet ให้เป็นโหนดเพื่อการกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้กับสถานศึกษาและหน่วยงานราชการที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการของจังหวัดบุรีรัมย์

พุทธศักราช ๒๕๕๖ (๑๙ มีนาคม ๒๕๕๖) สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศได้ปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารสำนักโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์  จีวัฒนา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ภายใต้ปรัชญา เป็นศูนย์กลางข้อมูลการเรียนรู้ บนออนไลน์ เพื่อพัฒนาท้องถิ่น

พุทธศักราช ๒๕๖๐ (๙ มีนาคม ๒๕๖๐) สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศได้ปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารสำนักโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์  จีวัฒนา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ภายใต้ปรัชญา เป็นศูนย์กลางข้อมูลการเรียนรู้ บนออนไลน์ เพื่อพัฒนาท้องถิ่น

พุทธศักราช ๒๕๖๔ (๙ มีนาคม ๒๕๖๔) สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศได้ปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารสำนักโดย อาจารย์ ดร.ณัฐพล  แสนคำ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ภายใต้ปรัชญา เป็นหน่วยงานสนับสนุนทางด้านทรัพยากรสารสนเทศและเทคโนโลยี ให้กับสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น